ประกันลดหย่อนภาษี คือ ค่าลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับประกันที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนได้ตามเบี้ยประกันที่จ่ายจริงในการทำประกันแต่ประเภท โดยวิธีลดหย่อนภาษีด้วยประกันจะแตกต่างกันออกไป ตามแต่ละรูปแบบของประกันที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ก็จะมีเพดานสูงสุดของค่าลดหย่อนแต่ละประกันแตกต่างกันไป
ในปัจจุบันจากค่าลดหย่อนภาษีของกรมสรรพากร ประกันลดหย่อนภาษี จะมีอยู่ทั้งหมด 3 ประเภทที่สามารถนำมาใช้สิทธิได้ คือ ประกันชีวิตทั่วไป ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพ
– ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุด 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
– ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี หักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
– ประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
– ประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
นอกจากนี้ จากการที่ค่าลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับประกันเป็นค่าลดหย่อนที่ลดหย่อนได้เท่ากับที่จ่ายตามจริง ทำให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานเก็บไว้ โดยหลักฐานที่ต้องมีสำหรับ ค่าลดหย่อนภาษีประกัน คือ ใบเสร็จการชำระค่าเบี้ยประกันหรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกัน
ประกันบำนาญลดหย่อนภาษี
ประกันบำนาญลดหย่อนภาษี คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้มีเงินได้ที่ทำประกันชีวิตแบบบำนาญ โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน (เงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษี) แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
และต้องไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่ใช้ลดหย่อนภาษี ไปรวมกับรายการดังต่อไปนี้ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, เงินที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF, และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
ในส่วนของเงื่อนไขประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี มีดังนี้
- กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญต้องให้ความคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป
- ต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
- จ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้ทำประกันมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
- ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นก่อนรับเงินบำนาญ (ยกเว้น กรณีเสียชีวิต)
- จ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดเอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายเดือน หรือ รายปี
ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี
ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนจากการทำประกันชีวิตทั่วไปหรือการฝากเงินกับบัญชี เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ให้กับตัวเองและภรรยาที่ไม่มีรายได้เท่านั้น โดยจะสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ได้เท่ากับที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ในส่วนของ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ในปัจจุบันมีธนาคารที่ให้บริการอยู่ 2 ธนาคาร คือ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยการฝากเงินกับธนาคารแบบมีประกันชีวิต ลดหย่อนภาษี ได้เท่ากับจำนวนเงินที่ฝากจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (พูดง่ายๆ เงินฝากนี้เปรียบเสมือนเบี้ยประกัน)
นอกจากนี้ ในกรณีที่ทำประกันชีวิตให้กับคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้น จะสามารถนำค่าเบี้ยประกันประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะต้องเป็นสามีภริยากันตลอดปีภาษี (พูดแบบง่ายๆ คือ ถ้าพึ่งแต่งงานปีนั้นใช้สิทธินี้ไม่ได้)
เงื่อนไขของ ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี
- กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ใช้เพื่อลดหย่อนภาษีต้องมีอายุการคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- ต้องเป็น บริษัทประกันชีวิต ในประเทศไทย
- ประกันชีวิตที่จ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา แต่ละปีต้องจ่ายคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
เงื่อนไขของ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต
- ต้องฝากเงินในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป
- ต้องเป็นธนาคารในประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบันมี 2 ธนาคารคือ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.
ถ้าหากผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันชีวิตเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อนครบ 10 ปี (ในกรณีของประกันชีวิต) หรือถอนเงินก่อนกำหนด 10 ปี (ในกรณีของเงินฝากแบบมีประกันชีวิต) จะต้องจ่ายเงินส่วนที่เคยได้ลดหย่อนภาษีจากส่วนนี้คืน (กลับไปคำนวณภาษีในปีก่อนหน้าใหม่) พร้อมกับเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย)
ข้อควรระวังที่สำคัญของ ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี คือ การทำประกันชีวิตให้พ่อแม่ไม่สามารถนำเบี้ยประกันไปเป็นค่าลดหย่อนได้ มีแต่ประกันสุขภาพเท่านั้นที่ทำให้พ่อแม่แล้วสามารถลดหย่อนภาษีได้ (รายละเอียดหัวข้อต่อไป)
ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี (ตัวเอง)
ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี จะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ การทำประกันสุขภาพให้กับตัวเอง และพ่อแม่ (ในส่วนของพ่อแม่ให้ดูหัวข้อถัดไป) โดยการทำประกันสุขภาพตัวเองสามารถนำค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่ากับที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับส่วนของประกันชีวิตลดหย่อนภาษีจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
โดยเงื่อนไข ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี ในส่วนของความคุ้มครองที่สรรพากรอนุญาตให้คุณสามารถนำค่าเบี้ยประกันมาใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้คือประกันสุขภาพที่ตรงตามเงื่อนไขต่อไปนี้
- ประกันภัยโรคร้ายแรง
- ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
- ประกันที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพ และการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
หมายเหตุ: ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมหักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 25,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ
ประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษี
นอกจากการซื้อประกันสุขภาพตัวเองแล้ว การที่ผู้มีเงินได้จ่ายค่าเบี้ย ประกันสุขภาพบิดามารดา จะสามารถนำค่าเบี้ยประกันมาใช้เป็น ค่าลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพพ่อแม่ ได้เท่ากับมูลค่าของเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (พ่อแม่ 2 คนรวมกัน 15,000 บาท)
นอกจากนี้ ในกรณีที่คู่สามีภรรยามีรายได้ฝ่ายเดียว (พูดง่ายๆ คือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเงินได้ต่ำกว่าที่จะต้องยื่นภาษี) จะสามารถให้ผู้ที่ยื่นภาษีใช้สิทธิ ประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษี ของพ่อแม่คู่สมรสแทนได้ด้วย โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น นาย A กับนางสาว B เป็นคู่สามีภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีแค่นาย A ที่ยื่นภาษีในปีภาษีนี้ ทำให้นาย A สามารถใช้สิทธิซื้อประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษีแทนนางสาว B ได้ (เพราะนางสาว A ไม่ได้ยื่นภาษีในปีนั้น)
พูดง่ายๆ ก็คือ นาย A จะลดหย่อนภาษีจากการจ่ายค่าประกันสุขภาพบิดามารดาได้สูงสุด 30,000 บาท เมื่อนางสาว B ไม่ได้ยื่นภาษี (พ่อแม่ตัวเอง 15,000 บาท + พ่อแม่ภรรยา 15,000 บาท)
เงื่อนไขของประกันสุขภาพที่ใช้สิทธิ ประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษี
- ประกันโรคร้ายแรง
- ประกันภัยการดูแลระยะยาว
- ประกันภัยที่คุ้มครอง การรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ การชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
เงื่อนไขของพ่อแม่สำหรับการใช้สิทธิ ประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษี
- ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมายเท่านั้น (บุตรบุญธรรมใช้สิทธิไม่ได้)
- พ่อแม่ ต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น
- พ่อแม่ หรือ ผู้ใช้สิทธิ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องอยู่ไทยมากกว่า 180 วัน
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพพ่อแม่ในส่วนของคู่สมรสได้ เมื่อคู่สมรสไม่ได้ยื่นภาษีในปีนั้นเท่านั้น
ข้อควรระวัง: การทำประกันให้พ่อแม่ที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนมีแค่การทำประกันสุขภาพพ่อแม่เท่านั้น การทำประกันชีวิตพ่อแม่ ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้