Home » ประกันสุขภาพ » Co Payment คืออะไร? ในประกันสุขภาพ

Co Payment คืออะไร? ในประกันสุขภาพ

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขเมื่อ

Co Payment คือ ประกันสุขภาพ Copay ประกันสุขภาพแบบ Co payment ต่างจาก Deductible อย่างไร

ในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมเพื่อช่วยลดภาระทางการเงินจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ภาระเบี้ยประกันสุขภาพต่อปีก็อาจเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยสำหรับใครหลายคน ในปัจจุบันเราจึงพบอาจพบกับ ประกันสุขภาพแบบ Co Payment ที่เป็นรูปแบบประกันสุขภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันแบ่งค่าใช้จ่ายบางส่วนร่วมกับบริษัทประกันแลกกับการลดเบี้ยประกันลง

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจว่าประกันที่มีเงื่อนไขแบบ Co Payment คืออะไร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง รวมถึงความแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพแบบ Co-payment กับประกันสุขภาพแบบ Deductible ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ต่างกัน ตลอดจน Full Coverage เพื่อช่วยให้คุณสามารถเลือกแผนประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้มากที่สุด

Co Payment คืออะไร?

Co Payment คือ ค่าใช้จ่ายร่วมที่ผู้เอาประกันต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสัดส่วนความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ เมื่อผู้เอาประกันทำการเคลมประกัน โดยส่วนที่เหลือบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ

เช่น ถ้ายอดค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดคือ 100,000 บาท เมื่อคุณเคลมประกันสุขภาพของคุณที่เป็นประกันสุขภาพแบบ Co Payment 20% หมายความว่า ในการเคลมค่ารักษาพยาบาลครั้งนี้คุณจะต้องร่วมจ่าย 20% จากยอดค่ารักษา ในที่นี้คือ 20,000 บาท ส่วนบริษัทประกันจะรับผิดชอบส่วนที่เหลืออีก 80% หรือ 80,000 บาทของค่ารักษา

Co-payment เป็นสิ่งที่ในปัจจุบันบริษัทประกันนำมาใช้ในการลดความเสี่ยง โดยมีเป้าหมายในการลดการเคลมที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระของบริษัทประกันลง แลกกับการที่ผู้ทำประกันสามารถเลือกจ่ายเบี้ยประกันที่ถูกลงได้

Co Payment แตกต่างจาก Deductible อย่างไร

สำหรับใครที่รู้จักค่า Deductible หรือ ค่าเสียหายส่วนแรกของประกันรถยนต์ คุณอาจพบว่า Co Payment มีความคล้ายคลึงกับค่าเสียหายส่วนแรกของประกันรถยนต์ จากการที่บริษัทประกันลดความเสี่ยงด้วยการให้ผู้เอาประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยส่วนหนึ่ง

ในส่วนของประกันสุขภาพเองก็มีประกันสุขภาพแบบ Deductible เมื่อผู้เอาประกันเคลมประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขแบบ Deductible ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบจ่ายด้วยจำนวนหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ ก่อนก่อนที่บริษัทประกันจะเข้ามาช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือ

โดยค่า Deductible ของประกันสุขภาพจะถูกกำหนดเอาไว้เป็นจำนวนคงที่ (ไม่ต่างจาก Deductible ของประกันรถยนต์) เช่น 30,000 บาท และถ้าหากค่ารักษาคือ 50,000 บาท ผู้เอาประกันจะต้องจ่าย 30,000 บาทเมื่อเคลมค่ารักษาพยาบาล และบริษัทประกันจะรับผิดชอบค่ารักษาอีก 20,000 บาที่เหลือ

จะเห็นว่าส่วนที่เหมือนของค่า Co Payment และค่า Deductible ในประกันสุขภาพ คือ การที่ผู้เอาประกันที่จะต้องร่วมจ่ายด้วยส่วนหนึ่ง

ในขณะที่ส่วนที่แตกต่างคือ ประกันสุขภาพแบบ Co Payment ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลส่วนหนึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ประกันสุขภาพแบบ Deductible ผู้เอาประกันจะรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกแบบคงที่ตามที่กำหนดเสมอดังนั้นการร่วมจ่ายเป็น % จึงทำให้ยิ่งค่ารักษาแพงผู้เอาประกันก็จะยิ่งจ่ายแพงนั่นเอง

  • ประกันสุขภาพแบบ Co Payment ผู้เอาประกันร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ ในลักษณะต้นทุนผันแปร (Variable Cost)
  • ประกันสุขภาพแบบ Deductible ผู้เอาประกันร่วมจ่ายเท่าเดิมเสมอ ในลักษณะต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ส่วนลดค่าเบี้ยประกันสุขภาพแบบ Co-payment จึงมักจะมีส่วนลดที่มากกว่าส่วนลดของประกันสุขภาพแบบ Deductible

ข้อได้เปรียบของประกันสุขภาพแบบ Co Payment

ข้อได้เปรียบหลักของผู้เอาประกันในการทำประกันสุขภาพแบบ Co Payment คือเบี้ยประกันภัยที่ถูกกว่า ซึ่งการทำประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขแบบ Co Payment สามารถลดค่าเบี้ยประกันได้ประมาณ 10-30% ในแต่ละปี แตกต่างตามระดับการ Co-payment ที่ได้เลือกเอาไว้ในตอนที่ทำประกันสุขภาพดังกล่าว

และจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือกรมธรรม์มากในกรณีที่ในปีดังกล่าวผู้ถือกรมธรรม์ไม่ได้เคลมประกันสุขภาพเลย (หรือเคลมน้อยมาก) จากการที่เบี้ยประกันถูกกว่าประกันสุขภาพที่ไม่มีการ Co Payment

ข้อควรระวังในการเลือกประกันสุขภาพแบบ Co-payment

แม้ว่าประกันสุขภาพแบบ Co-payment จะเป็นประกันที่คุ้มค่าสำหรับผู้ที่ป่วยไม่บ่อย แต่ข้อควรระวังที่สำคัญคือ ประกันสุขภาพแบบ Co-payment ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเป็นประกันสุขภาพฉบับแรกและประกันฉบับเดียวของผู้เอาประกันภัย จากการที่ผู้เอาประกันจะมีภาระในการชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในส่วนของ Co-payment

ภาระในการชำระค่า Co-payment ดังกล่าว ทำให้ผู้เอาประกันต้องเตรียมเงินสำรองเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ผู้เอาประกันต้องจ่ายทั้งเบี้ยประกันและจ่ายทั้งค่ารักษา ซึ่งยากที่จะ Co-payment จะช่วยประหยัดเงิน และอาจไม่เหมาะสำหรับผู้เอาประกันที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีเงินสำรองเพียงพอจนกลายเป็นอุปสรรคในการเข้ารับการรักษาพยาบาล

ประเด็นถัดมา การยกเลิกประกันสุขภาพแบบ Co Payment (รวมถึงประกันสุขภาพแบบ Deductible) เพื่อกลับมาใช้ประกันสุขภาพแบบ Full Coverage ที่บริษัทประกันรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดฝ่ายเดียว ผู้เอาประกันจะต้องตรวจสุขภาพก่อนที่จะได้รับความคุ้มครอง ซึ่งการที่ผู้เอาประกันมีประวัติสุขภาพก็อาจทำให้บริษัทประกันไม่รับทำประกันสุขภาพแบบ Full Coverage ทำให้ผู้เอาประกันจำเป็นที่จะต้องมีแผนสำรองหากไม่สามารถทำประกันแบบ Full Coverage ได้อีก

จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เอาประกันต้องประเมินว่าตนเองเหมาะกับประกันสุขภาพแบบใด หากเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลไหนจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร จากค่าใช้จ่ายดังกล่าวเหมาะกับประกันสุขภาพแบบที่มีส่วนลดค่าเบี้ยประกันในรูปแบบของ Co-payment หรือไม่ได้ต้องการส่วนลดค่าเบี้ยประกันและต้องการความคุ้มครองแบบ Full Coverage