Home » ภาษี » Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 50000 ช้อปอย่างไรได้ลดหย่อนภาษี?

Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 50000 ช้อปอย่างไรได้ลดหย่อนภาษี?

บทความโดย

เกี่ยวกับ

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขเมื่อ

Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 50000 บาท Easy E-Receipt คือ ค่าลดหย่อนภาษี ช้อปลดหย่อนภาษี 2567

สรุป รายละเอียดมาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท สำหรับปีภาษี 2567 จากการช้อปสินค้าและบริการที่กำหนด มาดูกันว่าค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt สามารถใช้สิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการอะไรได้บ้าง (และอะไรไม่ได้บ้าง) และต่างจากช้อปดีมีคืนอย่างไร

Easy e-Receipt คืออะไร?

Easy E-Receipt คือ ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2567 ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท

ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. ค่าซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกประเภท ยกเว้นรายการที่กำหนด (ไปที่รายการยกเว้น) 2. ค่าซื้อสินค้าและบริการจากผู้ที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทั้งแบบกระดาษและอีบุ๊ค และสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน

โดยผู้เสียภาษีที่ต้องการใช้สิทธิ ค่าลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt จะต้องขอหลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบ e-Tax Invoice เมื่อซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ e-Receipt เมื่อซื้อจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยหลักฐานทั้ง e-Tax Invoice และ e-Receipt จะต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อ และต้องมีชื่อผู้ซื้อเพียงคนเดียว

ดังนั้นแล้ว นอกจากจะต้องซื้อสินค้าหรือบริการที่เข้าเงื่อนไขแล้ว ผู้เสียภาษีที่ต้องการใช้มาตรการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt ยังต้องซื้อจากกิจการที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ที่กรมสรรพากรได้ระบุเอาไว้ว่า “ให้สังเกตร้านที่มีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt”

สัญลักษณ์ Easy E-Receipt สัญลักษณ์ e-Tax Invoice & e-Receipt ค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt คือ ค่าลดหย่อน ภาษี 50000 บาท
สัญลักษณ์ Easy E-Receipt และ สัญลักษณ์ e-Tax Invoice & e-Receipt1

หรือตรวจสอบร้านที่เข้าร่วม e-Tax Invoice ได้ที่ https://etax.rd.go.th โดยไปที่เมนู “ผู้ได้รับอนุมัติ” และในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วม e-Tax Invoice by Time Stamp สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ https://www.rd.go.th/27659.html โดยไปที่เมนู “รายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ”

ทั้งนี้ ด้วยการที่ e-Tax Invoice และ e-Receipt อยู่ในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรอยู่แล้วทำให้สามารถใช้ข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ซึ่งในส่วนนี้กรมสรรพากรชี้แจงเอาไว้ว่า “ประชาชนไม่ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีและจัดส่งให้กรมสรรพากรในการเข้าร่วมมาตรการโดยสามารถใช้ข้อมูล e-Tax Invoice ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และเจ้าหน้าที่จะไม่ขอให้ส่งใบกำกับภาษีอีก หากมีข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรแล้ว”2 ดังนั้นแล้วหากร้านค้าส่งใบกำกับภาษี e-Tax Invoice หรือ ใบรับ e-Receipt ให้คุณทางอีเมลเรายังคงแนะนำให้คุณเก็บเอาไว้ด้วยหลาย ๆ เหตุผล : )


เงื่อนไข Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท แบบละเอียด

ค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น โดยสามารถสังเกตร้านที่มีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt

โดยกรมสรรพากรได้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข 3 ข้อ3 ดังนี้

1. กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องไม่ใช่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

และจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

2. กรณีซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะใช้ได้เฉพาะค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

  • ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

และจะต้องมีใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ในกรณีที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการในข้อ 2. จากผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

3. ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการตามข้อ 1. และ 2. เมื่อรวมกันแล้วสามารถหักลดหย่อนได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

สามารถซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการหลายครั้งและนำมูลค่ามารวมกันได้ (มีใบกำกับภาษีหลายใบ) และในกรณีที่ใบกำกับภาษี 1 ใบจากการซื้อครั้งเดียวมีมูลค่ามากกว่า 50,000 บาท จะด้รับสิทธิไม่เกิน 50,000 บาท

สำหรับกรณีใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะนำมาใช้สิทธิ Easy E-Receipt ลดหย่อนได้เฉพาะค่าสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อีบุ๊ค และสินค้า OTOP ในกรณีที่ไม่ใช่ร้านค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม


สรุป มาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt

สรุป 8 สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ มาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท

  1. ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท รวมกันตามที่ใช้จ่ายจริง
  2. การซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ทำได้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
  3. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน (ที่ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) มีสิทธิในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt
  4. ค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt เป็นรายการลดหย่อนภาษีของปี 2567 (ที่คุณจะนำไปยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2568)
  5. ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกประเภท ยกเว้นบางรายการที่กำหนด (ไปที่รายการยกเว้น)
  6. ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะใช้ได้เพียงค่าใช้จ่ายจากการซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทั้งแบบกระดาษและอีบุ๊ค และสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  7. ต้องเป็นกิจการในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรที่ออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้เท่านั้น
  8. ค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ในปี 2567 ได้แก่ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ สาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต เบี้ยประกันวินาศภัย ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ และบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากช่วง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567

หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายกว่านั้น มาตรการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt คือ สิ่งที่เทียบได้กับ ช้อปดีมีคืน 2567 ที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากช้อปดีมีคืนบางประการ คือ รายการที่ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น และต้องเป็นใบกำกับภาษีและในรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice หรือ e-Receipt) เท่านั้น (ไม่สามารถใช้แบบกระดาษ)

ซื้ออะไรสามารถใช้สิทธิ Easy e-Receipt ลดหย่อนภาษีได้บ้าง?

สินค้าและบริการอะไรก็ตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยกเว้นสินค้าที่สรรพากรระบุ และสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทั้งแบบกระดาษและอีบุ๊ค และสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยสังเกตร้านที่มีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt และต้องขอหลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป e-Tax Invoice หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ e-Receipt

สัญลักษณ์ Easy E-Receipt สัญลักษณ์ e-Tax Invoice & e-Receipt ค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt คือ ค่าลดหย่อน ภาษี 50000 บาท

ช่วงระยะเวลาที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคนมีสิทธิในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ได้ตามที่ใช้จ่ายจริงสูงสุด 50,000 บาท สำหรับการยื่นภาษีปี 2567 (ที่จะต้องยื่นภาษีในปี 2568) โดยสามารถซื้อเพื่อใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567


เอกสารที่เกี่ยวข้องและข้อมูลอ้างอิง

  1. กรมสรรพากรเผยหลักเกณฑ์มาตรการ “Easy E-Receipt” ลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท เริ่ม 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น ↩︎
  2. คำถาม-คำตอบ (Q&A) มาตรการ “Easy E-Receipt” ↩︎
  3. แถลงข่าว 22 ธันวาคม 2566 – กรมสรรพากรเผยหลักเกณฑ์มาตรการ “Easy E-Receipt” ↩︎

ผู้เสียภาษีและร้านค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161