ในการเลือกซื้อประกันโดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถชั้น 2+, หรือ ประกันรถชั้น 3+ กับหลาย ๆ บริษัทในบางครั้งคุณอาจพบว่าในเงื่อนไขกรมธรรม์ของประกันภัยหรือประกันรถยนต์ที่คุณกำลังเลือกซื้อมีสิ่งที่เรียกว่า “ค่าเสียหายส่วนแรก”
ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ค่าเสียหายส่วนแรก หรือ ค่า Deductible ว่าคืออะไร และประกันรถยนต์ของคุณจำเป็นที่จะต้องมีค่าเสียหายส่วนแรกหรือไม่
สรุป เกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนแรก
- ค่าเสียหายส่วนแรก คือจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้บริษัทประกันเมื่อเคลมประกันในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายผิดหรือไม่สามารถระบุคู่กรณีได้
- ค่า Excess คือค่าเสียหายส่วนแรกภาคบังคับที่กำหนด คปภ.
- ค่า Deductible คือค่าความเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจที่สามารถใช้เป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันได้
- ไม่ต้องจ่ายค่า Excess หากรถชนกับยานพาหนะอื่น หรือระบุรายละเอียดคู่กรณีได้ หรือรถพลิกคว่ำ ชนทรัพย์สินที่ยึดแน่นตรึงกับพื้นดิน หรือชนคนหรือสัตว์
- ต้องจ่ายค่า Excess เมื่อเคลมสีรอบคันแบบไม่มีคู่กรณี หรือมีคู่กรณีแต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร
- ไม่ต้องจ่ายค่า Excess เมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด เช่น ขับรถผ่านจุดก่อสร้างแล้ววัสดุหล่นใส่รถ
ค่าเสียหายส่วนแรก คืออะไร?
ค่าเสียหายส่วนแรก คือ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบจ่ายก่อนเมื่อเคลมประกันจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิดหรือไม่สามารถระบุคู่กรณีได้ ก่อนที่บริษัทประกันจะเข้ามาช่วยจ่ายค่าเสียหายส่วนที่เหลือ
ตัวอย่างเช่น ถ้ากรมธรรม์ของประกันรถยนต์ของคุณระบุว่าค่าเสียหายส่วนแรกคือ 1,000 บาท เมื่อค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือ 10,000 บาท หมายความว่าคุณจะต้องจ่าย 1,000 บาทแรกให้บริษัทประกันเมื่อทำการเคลมประกันอุบัติเหตุรถยนต์ดังกล่าว ส่วนอีก 9,000 บาทที่เหลือบริษัทประกันจะเป็นผู้คุ้มครองให้คุณ
จากตัวอย่างเดิม สมมติว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมีมูลค่าเพียงแค่ 1,000 บาท คุณก็อาจจะเลือกจ่ายค่าซ่อมเองไม่เคลมประกัน (ซึ่งทำให้ไม่มีประวัติการเคลม) เพราะค่าเสียหายเท่ากับค่าเสียหายส่วนแรก
โดยค่าเสียหายส่วนแรกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess ที่เป็นค่าเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ
- ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible ที่เป็นค่าเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจ
จะเห็นว่าในมุมมองของบริษัทประกันที่เป็นผู้รับประกัน ค่าเสียหายส่วนแรกมีประโยชน์อย่างยิ่งในแง่ของการลดความเสี่ยงจากการเคลมประกันรถยนต์ที่ไม่เกิดขึ้นจริงและการขับรถยนต์ด้วยความประมาทจากความมั่นใจว่ามีประกันภัยรถยนต์อยู่ เช่น การทำให้รถเป็นรอยเองเพื่อเคลมรอบคัน เมื่อมีค่า Excess เคลมรอบคันในลักษณะดังกล่าวจึงเกิดขึ้นน้อยลงซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทประกันลง
ด้วยข้อได้เปรียบดังกล่าว แนวคิดเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนแรกจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กับประกันรถยนต์เท่านั้น โดยเรายังสามารถพบค่าเสียหายส่วนแรกได้ในประกันรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันการเดินทาง ที่ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในบางกรณีของการเคลมประกันแต่ละประเภทตามเงื่อนไข
ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess
ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess คือ ค่าเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ ตามข้อกำหนดของสำนักงาน คปภ. เป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเมื่อเคลมประกันจากความเสียหายในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ และในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการชนแต่ไม่สามารถระบุคู่กรณีให้บริษัทประกันทราบได้
ตัวอย่างของการเคลมประกันที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess ที่พบได้บ่อยแก่
- ยางระเบิดเพราะเหยียบสิ่งมีคมอย่างตะปู ของมีคม
- รอยขีดข่วนหรือรอยบุบบนตัวถังรถยนต์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงการกลั่นแกล้งของผู้ไม่หวังดี
- การขับรถตกท่อระบายน้ำ ตกหลุม จนได้รับความเสียหาย
- การถูกหินบนถนนกระเด็นใส่จนเกิดความเสียหาย
- ความเสียหายจากสัตว์กัดแทะ
- อุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณีและไม่พลิกคว่ำ
- อุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณีอื่น ๆ
ทั้งนี้ ความเสียหายบางประเภทผู้เอาประกันจะได้รับข้อยกเว้นในการจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess ได้แก่ รถชนเสาไฟ/ประตู ชนกำแพง ชนต้นไม้ ชนฟุตบาท ชนป้ายจราจร หรือพลิกคว่ำ เป็นต้น
โดยค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess จะเริ่มต้นที่ 1,000 บาท และแตกต่างกันไปในแต่ละกรมธรรม์ รวมถึงแตกต่างตามเงื่อนไขอื่น เช่น ในกรณีที่กรมธรรม์ระบุผู้ขับขี่แต่ผู้ที่ขับขี่ขณะเกิดอุบัติเหตุไม่ตรงตามชื่อที่ระบุก็อาจจะทำให้ค่า Excess เป็นอีกราคาหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess เป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่เป็นภาคบังคับ จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันรถยนต์ได้
ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible
ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible เป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันยินยอมจ่ายให้บริษัทประกันในการเคลมประกันจากกรณีอุบัติเหตุ ที่ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิดและเป็นรถยนต์ของผู้เอาประกัน
ทั้งนี้ ถ้าหากผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูกจะไม่ต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible แต่อย่างใด
จะเห็นว่าค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible เปรียบเสมือนการที่ผู้เอาประกันที่เป็นฝ่ายร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายกับบริษัทประกัน ทำให้ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible สามารถช่วยลดค่าเบี้ยประกันที่คุณต้องจ่ายได้ ซึ่งยิ่งค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible สูง ก็จะช่วยทำให้ส่วนลดของค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์มากขึ้น
ทำไมซื้อประกันรถยนต์ที่มีค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจ
แม้ว่าค่าเสียหายส่วนแรกดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เอาประกันเสียเปรียบจากการที่ไม่ได้เงินประกันเต็มจำนวนจากการเคลมประกัน แต่จริง ๆ แล้วประกันรถยนต์ที่มีค่าเสียหายส่วนแรก มีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือการที่ค่าเสียหายส่วนแรกทำให้เบี้ยประกันถูกลง เนื่องจากค่าเสียหายส่วนแรกช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทประกันลง
โดยความเสี่ยงที่ลดลงของบริษัทประกันมาจากทั้งความระมัดระวังของผู้เอาประกันที่มากขึ้น และจากการที่ผู้เอาประกันต้องช่างน้ำหนักก่อนการเคลมประกันที่ค่าเสียหายเล็กน้อย ส่งผลให้ผู้เอาประกันเคลมจากความเสียหายเล็กน้อยลดลง ที่ช่วยรักษาประวัติการเคลมของผู้เอาประกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อราคาค่าเบี้ยประกันในอนาคตของผู้เอาประกันอีกเช่นกัน
ตอบ คำถามเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนแรก
ค่าเสียหายส่วนแรก เป็นเงินที่คุณต้องจ่ายให้บริษัทประกันเมื่อเคลมประกันในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายผิดหรือไม่สามารถระบุคู่กรณีได้ โดยทั่วไปมักจะอยู่ที่ประมาณ 1000 ถึง 6000 บาท
สมมติว่า ค่าเสียหายส่วนแรกตามที่ระบุในเงื่อนไขกรมธรรม์คือ 5000 บาท ถ้าค่าเสียหายคือ 6000 บาท เมื่อคุณเลือกที่จะเคลมประกันคุณจะต้องจ่าย 5000 บาทแรกให้บริษัทประกัน ส่วนที่เหลือในที่นี้คือ 1000 บาทบริษัทประกันจะเป็นผู้จ่าย
ค่าเสียหายส่วนแรก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ค่าเสียหายส่วนแรกแบบภาคบังคับ (ค่า Excess) และ ค่าเสียหายส่วนแรกแบบภาคสมัครใจ (ค่า Deductible)
ค่า Excess คือค่าเสียหายส่วนแรกที่เกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันเคลมแบบไม่มีคู่กรณี หรือมีคู่กรณีแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน หรือใครเป็นคู่กรณีได้
ค่า Deductible หรือเรียกย่อว่า ค่าดีดัก คือค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจที่ผู้เอาประกันเลือกรับเงื่อนไขตามกรมธรรม์ในการจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกเมื่อเคลมประกัน
หมายเหตุ: ควรตรวจสอบเงื่อนไขและรายละเอียดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนแรกและความคุ้มครองทั้งหมดในกรมธรรม์อีกครั้งอย่างละเอียด เนื่องจากในแต่ละกรมธรรม์มีเงื่อนไขการรับประกันที่แตกต่างกัน