ปัจจุบันการรีไฟแนนซ์ (Refinance) เป็นวิธีการที่ผู้กู้นิยมใช้ลดภาระจากสินเชื่อที่พบได้บ่อยในการรีไฟแนนซ์บ้าน การรีไฟแนนซ์รถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีเป้าหมายในการลดดอกเบี้ย ลดค่างวด รือปรับระยะเวลาการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรีไฟแนนซ์เป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่ดูเหมือนช่วยเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระในระยะยาว แต่ก็มีหลายสิ่งที่เป็นข้อจำกัดและสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์อยู่ ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับว่าการรีไฟแนนซ์คืออะไร มีข้อดี ข้อควรระวัง และขั้นตอนสำคัญที่ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรีไฟแนนซ์ของคุณ
รีไฟแนนซ์ คืออะไร?
รีไฟแนนซ์ คือ การจ่ายเงินกู้ก้อนเดิมทั้งหมดด้วยเงินกู้ก้อนใหม่จากสถาบันการเงินแห่งใหม่ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อผ่อนชำระสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งใหม่แทน โดยมีเป้าหมายในการลดภาระในการจ่ายหนี้จากทั้งค่างวดและดอกเบี้ยปัจจุบันของผู้กู้
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น การรีไฟแนนซ์ (Refinance) คือการกู้เงินก้อนใหม่จากสถาบันการเงินอีกแห่งมาใช้หนี้ก้อนเก่าด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า เมื่อดอกเบี้ยจากการรีไฟแนนซ์ต่ำกว่าก็จะทำให้ภาพรวมหนี้และภาระในการจ่ายหนี้ที่เกิดจากดอกเบี้ยและค่างวดต่อเดือนลดลง
หนี้ที่สามารถทำการรีไฟแนนซ์ได้จะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินว่ารับรีไฟแนนซ์อะไรบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สถาบันการเงินมักจะรับรีไฟแนนซ์บ้าน รีไฟแนนซ์รถยนต์ รีไฟแนนซ์รถจักรยานยนต์ และรีไฟแนนซ์คอนโด
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรีไฟแนนซ์บ้าน รีไฟแนนซ์รถยนต์ หรือการรีไฟแนนซ์หนี้อะไรก็ตาม ต่างมีเป้าหมายในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ่ายหนี้จากดอกเบี้ย (แต่อาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันตามลักษณะของหนี้) เนื่องจากเงินกู้เหล่านี้จะคิดดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) ที่ในปีแรก ๆ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่ต่ำ และค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในปีต่อ ๆ ไป
ซึ่งช่วงเวลาที่มักจะเกิดการรีไฟแนนซ์ของผู้กู้มักจะเป็นช่วงหมดดอกเบี้ยต่ำ ที่ทำให้ผู้กู้เริ่มรู้สึกว่าค่างวดและดอกเบี้ยจากเงินกู้เริ่มส่งผลกระทบถึงสภาพคล่องทางการเงินและเงินออมที่มีอยู่
ทั้งนี้ในการรีไฟแนนซ์ (Refinancing) จะต้องตรวจสอบสัญญาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไถ่ถอนก่อนกำหนดว่ามีเงื่อนไขข้อกำหนดใดที่เป็นอุปสรรคต่อการรีไฟแนนซ์อยู่หรือไม่
ข้อได้เปรียบของการรีไฟแนนซ์
ข้อได้เปรียบของการรีไฟแนนซ์เกิดจากประโยชน์ของการรีไฟแนนซ์ คือ การลดภาระที่เกิดจากเงินกู้หลังจากหมดช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำที่ทำให้ค่างวดและดอกเบี้ยจากเงินกู้สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ของผู้กู้สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและเงินออมที่มีอยู่
การรีไฟแนนซ์จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้รีไฟแนนซ์ได้รับประโยชน์จากการที่ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมซึ่งหมายถึงภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง และทำให้สภาพคล่องให้กับผู้รีไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นจากการที่ภาระหนี้ที่จ่ายต่อเดือนลดลงจากเดิม
นอกจากนี้ อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการรีไฟแนนซ์คือการได้วงเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอดีตบางครั้งธนาคารให้วงเงินจากราคาประเมินในอดีต เมื่อเวลาผ่านไปราคาประเมินเพิ่มขึ้นการรีไฟแนนซ์ก็จะทำให้ได้วงเงินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หลายธนาคารอาจให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินเดิมหรือไม่เกินยอดหนี้ที่เหลืออยู่เนื่องจากเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีความเสี่ยง
ข้อจำกัดของการรีไฟแนนซ์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรรู้เพื่อการตัดสินใจในการรีไฟแนนซ์ คือ การรีไฟแนนซ์ไม่ใช่สิ่งที่มีแต่ด้านดีจากการลดดอกเบี้ยและการลดภาระจากการจ่ายหนี้
เพราะการรีไฟแนนซ์มีต้นทุนในการรีไฟแนนซ์และเวลาที่ต้องใช้ไปกระบวนการต่าง ๆ อีกทั้งเวลาที่เสียไปก็ไม่ใช่สิ่งที่รับประกันได้ว่าธนาคารที่ยื่นเรื่องไปจะอนุมัติผลให้เสมอไป ทำให้วิธีหนึ่งที่ผู้กู้นิยมใช้ในการเพิ่มโอกาสในการยื่นรีไฟแนนซ์ให้ผ่านคือการยื่นเรื่องไปยังสถาบันการเงินหลายแห่งที่ทำให้ต้นทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ
นอกจากนั้น เมื่อคุณที่เป็นผู้กู้รีไฟแนนซ์ผ่าน สิ่งสำคัญต่อมาคือการรีไฟแนนซ์ทำให้ระยะเวลาในการผ่อนนานขึ้นไม่มากก็น้อย เนื่องจากเป็นการกู้ใหม่ (จากสถาบันการเงินแห่งใหม่) เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ก่อนเก่า เว้นแต่เป็นการรีไฟแนนซ์เพื่อปรับโครงสร้างในการชำระหนี้
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการพิจารณาตัดสินใจรีไฟแนนซ์ คือ การประเมินต้นทุนค่าเสียโอกาสระหว่างผลประโยชน์ที่คุณได้ตอบแทนจากการรีไฟแนนซ์มากกว่ากว่าต้นทุนที่คุณใช้ในการรีไฟแนนซ์ว่าคุ้มค่าหรือไม่ โดยในเบื้องต้นอาจพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ที่แตกต่างกันในแต่ละธนาคาร
การรีไฟแนนซ์มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ เป็นสิ่งแรกที่ผู้ที่ต้องการรีไฟแนนซ์ต้องทราบเพื่อเปรียบเทียบและชั่งน้ำหนักว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้คุ้มค่ากับผลของภาระดอกเบี้ยที่ลดลงจากการตัดสินใจรีไฟแนนซ์หรือไม่
สำหรับค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ในเบื้องต้นที่ผู้ที่ทำการรีไฟแนนซ์อาจจะต้องพบ โดยอ้างอิงจากการรีไฟแนนซ์บ้านมีดังนี้
- ค่าปรับกรณีไถ่ถอนหลักประกันก่อนกำหนด (ขึ้นอยู่กับสัญญา)
- ค่าประเมินราคาหลักประกัน (เพื่ออนุมัติเงินกู้)
- ค่าประกันอัคคีภัย
- ค่าธรรมเนียมของการทำสัญญา
- ค่าธรรมเนียมในการจดจำนองกับกรมที่ดิน
- ค่าอากรแสตมป์ (0.05%)
หมายเหตุ: ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต่างกันในแต่ละเคสและแต่ละสถาบันการเงิน ดังนั้นผู้กู้ควรศึกษาเงื่อนไขและขั้นตอนอย่างรอบคอบในขั้นตอนของการเลือกสถาบันการเงิน
เอกสารสำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน
ในเบื้องต้นเอกสารที่ต้องใช้ในการรีไฟแนนซ์บ้านแต่ละธนาคารจะใช้เอกสารที่ไม่แตกต่างกันมาก ได้แก่
- เอกสารยืนยันตัวตน (บัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน)
- เอกสารทางการเงินในการแสดงรายได้ และรายการเดินบัญชีย้อนหลัง
- เอกสารหลักประกันการรีไฟแนนซ์ (เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งที่จะรีไฟแนนซ์ เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาจำนองที่ดิน และหนังสือกรรมสิทธิ์ เป็นต้น)
แต่สิ่งที่จะทำให้เอกสารที่ใช้ในการรีไฟแนนซ์ของแต่ละคนแตกต่างกันคือเอกสารที่เกี่ยวกับว่า “ใครเป็นผู้กู้” เช่น การกู้ร่วม, ผู้กู้ประกอบอาชีพอิสระ, และการที่ผู้กู้เป็นเจ้าของกิจการไม่ได้เป็นพนักงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในแต่ละเว็บไซต์ของสถาบันการเงินที่เปิดให้รีไฟแนนซ์จะมีข้อมูลแจ้งเอาไว้ว่าต้องการเอกสารอะไรบ้างสำหรับการรีไฟแนนซ์แต่ละประเภท
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์
ขั้นตอนคร่าว ๆ ของการรีไฟแนนซ์ มีดังนี้
- ติดต่อสถาบันการเงินที่คุณต้องการรีไฟแนนซ์ด้วย เพื่อขอรายละเอียด
- จากนั้นเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการรีไฟแนนซ์ตามที่สถาบันการเงินต้องการ
- ยื่นเอกสารรีไฟแนนซ์ และรอผลการอนุมัติรีไฟแนนซ์
- เมื่อผ่านการอนุมัติรีไฟแนนซ์แล้ว ให้แจ้งสถาบันการเงินเดิมของคุณเพื่อทำเรื่องปิดหนี้ ทางสถาบันการเงินเดิมจะสรุปยอดหนี้และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้คุณ
- นำข้อมูลที่ได้จากสถาบันการเงินเดิมไปแจ้งให้สถาบันการเงินใหม่ เพื่อให้สถาบันการเงินใหม่อนุมัติวงเงินและนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินเดิม
สำหรับกรณีของการรีไฟแนนซ์บ้าน คุณจะต้องทำสัญญาและจดจำนองที่ดิน ณ กรมที่ดินด้วย เนื่องจากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของคุณเปลี่ยนไป
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์
การรีไฟแนนซ์ (Refinancing) คือการจ่ายเงินกู้ก้อนเดิมทั้งหมดด้วยเงินกู้ก้อนใหม่จากสถาบันการเงินแห่งใหม่ โดยมีจุดประสงค์ในการผ่อนชำระสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าหรือระยะเวลาในการผ่อนที่ต้องการแทน
ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินว่ารับรีไฟแนนซ์หนี้แบบใดบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สถาบันการเงินมักจะรับรีไฟแนนซ์บ้าน รีไฟแนนซ์รถยนต์ รีไฟแนนซ์รถจักรยานยนต์ รีไฟแนนซ์คอนโด และรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต