สรุปขั้นตอน วิธียื่น ภ.ง.ด. 94 ออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.rd.go.th สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ผ่านช่องทางออนไลน์แบบละเอียด
วิธียื่น ภ.ง.ด. 94 สำหรับภาษีครึ่งปีบุคคลธรรมดาสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การยื่น ภ.ง.ด. 94 ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศและการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ออนไลน์ ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th (ตามวิธีในบทความนี้) โดยทุกปีจะเปิดให้ยื่น ภ.ง.ด. 94 หรือภาษีครึ่งปีในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนในปีนั้นๆ
ภาษีครึ่งปี คือ ภาษีเงินได้ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ในเดือนมกราคมถึงมิถุนายนตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไปต้องยื่น ภ.ง.ด. 94 ไม่ว่าจะมีภาษีที่ต้องจ่ายหรือไม่ (รายได้ถึงต้องยื่น) โดยผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 สำหรับภาษีครึ่งปี ได้แก่
- เงินได้ประเภทที่ 5 เงินจากการให้เช่าทรัพย์สิน/ประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น ให้เช่าบ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ และเงินได้จากการผิดสัญญาซื้อ/ขาย/เช่าซื้อ
- เงินได้ประเภทที่ 6 เงินจากวิชาชีพ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักบัญชี, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก และช่างประณีตศิลปกรรม
- เงินได้ประเภทที่ 7 ค่าจ้างรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง
- เงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้อื่นที่ไม่ใช่ประเภท 1 – 7 เช่น นักแสดง, ขายของออนไลน์, ร้านเสริมสวย, รับจ้างทั่วไป, นักกีฬาอาชีพ, กำไรจากการขายกองทุน, สลากกินแบ่งรัฐบาล, YouTuber, Streamer และ AdSense เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาในการยื่น ภ.ง.ด. 94 อาจแตกต่างกันในแต่ละปีภาษี รวมถึงระยะเวลาที่เปิดให้ยื่น ภ.ง.ด. 94 ที่สำนักงานสรรพากร (กระดาษ) และการยื่น ภ.ง.ด. 94 ออนไลน์อาจจะแตกต่างกันด้วยเช่นกัน สำหรับปี 2563 การยื่น ภ.ง.ด. 94 มีกำหนดการดังนี้
- ยื่นที่สำนักงานสรรพากร ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – วันที่ 30 กันยายน
- ยื่นออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – วันที่ 8 ตุลาคม
ขั้นที่ 1 เข้าสู่ระบบ
ไปที่เว็บไซต์ www.rd.go.th และเลือก “ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94” จากนั้นจะเข้าสู่หน้า Login ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 94 สำหรับผู้ที่เคยยื่นภาษีมาก่อนให้คุณใส่หมายเลขผู้ใช้ (เลขประจำตัวประชาชน) และรหัสผ่านที่คุณเคยตั้งไว้
ถ้าหากจำรหัสผ่านไม่ได้ ให้กด “ลืมรหัสผ่าน” เพื่อเปลี่ยนรหัสผ่าน ซึ่งจะต้องใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนในการยืนยันตน
ถ้าหากยังไม่มี (เพราะไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน) ให้กดลงทะเบียนปุ่มสีแดงตามภาพด้านล่าง โดยบัญชีนี้จะสามารถใช้ยื่นภาษีได้ทั้ง ภ.ง.ด. 90/91/94 ของคุณในอนาคต
ขั้นที่ 2 กรอกข้อมูลผู้ยื่นภาษี
เมื่อ Login สำเร็จ จะเข้ามาที่หน้าข้อมูลของผู้ยื่นภาษี (ตามภาพด้านล่าง) ถ้าหากคุณยื่นภาษีเป็นครั้งแรกให้กรอกข้อมูลตามที่ระบบต้องการ ถ้าหากคุณเคยยื่นภาษีมาก่อนระบบจะมีข้อมูลอยู่แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วกด “ทำรายการต่อไป”
จากนั้นจะไปที่หน้าสถานภาพของผู้มีเงินได้ ในหน้านี้ให้เลือกสถานภาพของผู้มีเงินได้และใส่ชื่อสถานประกอบการ จากนั้นกดทำรายการต่อไป
ขั้นที่ 3 เลือกประเภทเงินได้และค่าลดหย่อน
ในหน้า เลือกเงินได้/ลดหย่อน ผู้ยื่น ภ.ง.ด. 94 จะต้องเลือก 2 ส่วน คือ เลือกรายการเงินได้พึงประเมิน และ เลือกเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น/ค่าลดหย่อน โดยสามารถเลือกได้มากกว่า 1 รายการ และต้องเลือกตามจริง และเมื่อเลือกเรียบร้อยแล้วให้กด “ทำรายการต่อไป”
ขั้นที่ 4 กรอกเงินได้
ในหน้าบันทึกเงินได้ ให้ผู้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 กรอกรายได้และค่าใช้จ่าย (กรณีหักค่าใช้จ่ายตามจริง) ตามที่เกิดขึ้นจริง โดยกรอกเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทแยกกัน
ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่คุณมีรายได้จากการขายของออนไลน์และรายได้จาก AdSense ที่ทั้งคู่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 รวมทั้งยังมีรายได้จากวิชาชีพบัญชีซึ่งเป็นรายได้พึงประเมินประเภทที่ 6 คุณจะต้องกรอกรายการเงินได้พึงประเมิน 3 ส่วน
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 สำหรับเงินได้จากการขายของออนไลน์ โดยเลือกกิจการซื้อมาขายไป
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 สำหรับเงินได้จาก Google Adsense โดยเลือกเป็นประเภทอื่นๆ
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ที่มาจากวิชาชีพบัญชี
โดยจะสามารถเพิ่มรายการเงินได้ด้วยการกดปุ่ม “เพิ่มรายการเงินได้” สำหรับการใส่เงินได้อีกประเภท (เพราะค่าเริ่มต้นจะมีให้แค่กล่องเดียว)
ในส่วนของช่อง “หักค่าใช้จ่าย” จะเห็นว่ามี 2 ประเภทให้เลือก คือ หักค่าใช้จ่ายร้อยละ (ร้อยละ) และ หักค่าใช้จ่ายตามจริง (จริง) ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายคือการที่กฎหมายยอมให้ผู้มีเงินได้หักต้นทุนของอาชีพออกจากรายได้ที่คุณมี
หักค่าใช้จ่ายร้อยละ หรือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ การที่กฎหมายจะระบุเอาไว้ชัดเจนว่าคุณหักค่าใช้จ่ายได้กี่เปอร์เซ็นต์แบบตายตัว (และไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายใด) เช่น หักค่าใช้จ่าย 50% ถ้าคุณมีรายได้ 100,000 บาท การหักค่าใช้จ่ายจะทำให้เงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีถูกลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งหรือ 50,000 บาทนั่นเอง
หักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ การหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่เกิดขึ้นจริงตามที่คุณใช้ไปจริงกับการประกอบอาชีพเพื่อทำให้ได้รายได้นั้นมา โดยคุณจะต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินเก็บไว้
ในการยื่น ภ.ง.ด. 94 ในขั้นตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
- เลือกได้แค่ร้อยละ กรณีนี้คุณจะไม่ต้องทำอะไรเลย
- เลือกได้แค่จริง กรณีนี้ให้คุณกรอกค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
- เลือกได้ทั้ง ร้อยละ และ จริง กรณีนี้ให้คุณเลือกวิธีที่ทำให้รายได้คุณลดลงเหลือน้อยมากที่สุด
ขั้นตอนที่ 5 คำนวณภาษี ภ.ง.ด. 94
เมื่อกรอกข้อมูลจากขั้นตอนที่แล้วเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่หน้าคำนวณภาษี ในหน้านี้ระบบจะแสดงทุกอย่างที่คุณได้กรอกเอาไว้ และคำนวณออกมาว่าคุณมีภาษีที่ต้องชำระเท่าไหร่
ให้ตรวจสออบความถูกต้องของข้อมูล แล้วกดทำรายการต่อไปและยืนยันการยื่นแบบต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 ผลการยื่นแบบ
เมื่อยืนยันการยื่นแบบเรียบร้อย ก็จะไปที่หน้าผลการยื่นแบบ (ตามภาพด้านล่าง) ที่จะแสดงรายละเอียดต่างๆ ของการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 รวมถึงหมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบ ในหน้านี้ให้คุณกด “พิมพ์แบบ” เพื่อพิมพ์หรือบันทึกเป็นไฟล์ PDF เก็บไว้เป็นหลักฐานว่าคุณได้ยื่น ภ.ง.ด. 94 เรียบร้อยแล้วจริงๆ
ขั้นตอนที่ 7 จ่ายภาษี
ถ้าหากคุณไม่มีภาษีที่ต้องชำระก็ไม่ต้องทำอะไรหลังจากยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เสร็จแล้ว แต่ถ้าหากว่าการยื่น ภ.ง.ด. 94 ในครั้งนี้คุณมีภาษีที่ต้องชำระ คุณจะต้องชำระเงินภาษีให้เสร็จสิ้นภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยการชำระภาษี สำหรับแบบ ภ.ง.ด. 94 ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต มีช่องทางให้เลือก ดังนี้
ชำระภาษีทาง E-Payment, Internet Credit Card (บัตรเครดิตบนอินเทอร์เน็ต) โดยระบุธนาคารที่ใช้บริการและป้อน ‘หมายเลขผู้ใช้’ และ ‘รหัสผ่าน’ ที่ได้รับจากธนาคาร แล้วดำเนินการตามขั้นตอนของธนาคารนั้น เมื่อธนาคารตอบรับการโอนเงินเข้าบัญชีกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว ระบบจะยืนยันการยื่นแบบฯ และชำระภาษีโดยแจ้งข้อความให้ทราบในทันทีว่าได้รับรายการยื่นแบบฯ และชำระภาษีแล้ว
ชำระภาษีผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ATM, ATM Internet, Internet Banking, Tele / Phone Banking, Mobile Banking, เคาน์เตอร์ธนาคาร, เคาน์เตอร์ไปรษณีย์, จุดชำระเงินเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-Eleven) และ เทสโก้ บิลเพย์เม้นท์ โดยคุณจะต้องพิมพ์ ชุดชำระเงิน (Pay-In Slip) เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการชำระภาษีผ่านช่องทางที่เลือก
ชำระภาษีด้วย Tax Smart Card โดยคุณจะต้องพิมพ์ ชุดชำระเงิน (Pay-In Slip) เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการชำระภาษีผ่านเครื่องรูด/สอดบัตรอัตโนมัติ (เครื่อง EDC) ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีภาษีที่ต้องชำระมากกว่า 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระเงินภาษีได้ 3 งวด งวดละเท่าๆ กันภายในกำหนดเวลาโดยไม่มีเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย)
อย่างไรก็ตาม หากยื่น ภ.ง.ด. 94 สำเร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระเงินภาษีให้เสร็จสิ้นภายในเวลาตามที่กำหนด กรมสรรพากรจะถือว่ายังไม่ได้ยื่น ภ.ง.ด. 94 และชำระภาษี ดังนั้น จึงยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ และชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และต้องชำระเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก
- การชำระภาษีของแบบฯ ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต – เว็บไซต์กรมสรรพากร
ข้อมูลอัพเดทล่าสุด (Last Modified) วันที่ 24 กรกฎาคม 2564