ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ เงินได้ที่ผู้เสียภาษีต้องนำมาคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นำมาใช้คำนวณด้วยอัตราภาษีก้าวหน้าจะใช้เงินได้สุทธิเป็นฐานภาษี ซึ่งมาจากเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนภาษี
โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายจะคำนวณมาจากการคูณฐานภาษี (เงินได้สุทธิ) กับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้จะเรียกว่าการคำนวณภาษีวิธีเงินได้สุทธิ
ฐานภาษี กับ อัตราภาษี เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายคนสับสนหรือเข้าใจผิดไปว่าอัตราภาษีเงินได้กับฐานภาษีเงินได้คือสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าหากจะอธิบายแบบง่ายและรวบรัด ฐานภาษี คือ ตัวเลขที่นำมาคูณกับเปอร์เซ็นต์ของภาษีที่ต้องจ่าย ในขณะที่อัตราภาษีคือตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ว่านั่นเอง
และสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การที่ผู้มีเงินได้สุทธิซึ่งเป็นฐานภาษีที่มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้อัตราภาษียิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละขั้นตามตารางภาษีด้านล่าง
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีเงินได้ที่ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 มากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ยังต้องคำนวณภาษีเงินได้อีกวิธีหนึ่งควบคู่กันไปด้วย โดยการนำเงินได้พึงประเมินที่ไม่ใช่ประเภทที่ 1 คูณกับ 0.5% แล้วเปรียบเทียบกับการคำนวณภาษีด้วยวิธีเงินได้สุทธิแล้วจ่ายภาษีตามวิธีที่คำนวณภาษีได้มากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ ฐานภาษี คือ เงินได้พึงประเมินนั่นเอง
- เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้ตลอดทั้งปี
- เงินได้สุทธิ คือ เงินได้พึงประเมินที่หักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนภาษีแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเพียงแค่ฐานภาษี (Tax Base) จะเป็นอะไรก็ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีนำมาคำนวณภาษี อย่างเช่น ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะไม่เกี่ยวกับรายได้แต่สิ่งที่ใช้เป็น ฐานภาษี คือ ราคาของสินค้า ในขณะที่ฐานภาษีเงินได้ คือ รายได้ของผู้มีเงินได้