สรุป รายละเอียดเงื่อนไขใหม่ Easy E-Receipt 2568 ลดหย่อนภาษี สูงสุด 50,000 บาท ตามค่าใช้จ่ายจริงจากการซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขจากผู้ขายที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้สิทธิค่าลดหย่อน Easy E-Receipt 2568 หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Easy E-Receipt 2.0 ว่าในปีนี้มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ตลอดจนสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้ว ก่อนที่คุณจะตัดสินใจใช้สิทธิ
เนื่องจากเป็นบทความที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก สามารถเลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการได้ที่นี่
Easy E-Receipt คืออะไร?
Easy E-Receipt คือ มาตรการช้อปลดหย่อนภาษีที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขและได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt มาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
โดยมาตรการ Easy E-Receipt (และมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีชื่ออื่น ๆ) จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละปี และมักจะประกาศออกมาแบบปีต่อปี ผู้เสียภาษีที่ต้องการใช้สิทธิจึงจำเป็นจะต้องติดตามในช่วงไตรมาสสุดท้ายในแต่ละปี หรือติดตาม InsureThink ทาง Facebook และ X เอาไว้เพื่ออัปเดตข้อมูลเหล่านี้
สำหรับมาตรการ Easy E-Receipt 2568 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Easy E-Receipt 2.0” ซึ่งจะสามารถใช้สิทธิได้ระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และสามารถลดหย่อนภาษีได้รวมสูงสุด 50,000 บาท
Easy E-Receipt 2568 มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง?
Easy E-Receipt 2568 คือ มาตรการค่าลดหย่อนภาษีที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) สามารถนำค่าซื้อสินค้าหรือบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท และต้องได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ที่ระบุชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อ และลงวันที่ภายในระยะเวลาโครงการ
ซึ่งจะใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีของปีภาษี 2568 ที่คุณจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาช่วงต้นปี 2569
สินค้าและบริการที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาเป็นค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2568 จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- ค่าซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท
- ค่าซื้อสินค้าและบริการจาก สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP), วิสาหกิจชุมชน, และวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 20,000 บาท
นอกจากนั้น ค่าซื้อสินค้าและบริการในข้อ 1. จะรวมถึงค่าสินค้าและบริการตามข้อ 2. ด้วย ทำให้การซื้อสินค้าและบริการในข้อ 2. สามารถนำค่าซื้อสินค้าและบริการมาเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 + 20,000 บาท เช่น สามารถซื้อสินค้า OTOP 50,000 บาท และลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาท
เงื่อนไขสินค้าและบริการที่สามารถใช้สิทธิ Easy E-Receipt
การซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในข้อ 1. สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ได้เฉพาะสินค้าหรือบริการต่อไปนี้
- หนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร
- หนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
- สินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
- สินค้าหรือบริการของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิ Easy E-Receipt 2568 ได้แก่
- ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
- ค่าน้ำมัน ก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต
- ค่าซื้อรถยนต์ เรือ รถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รวมถึงจักรยานที่ติดเครื่องยนต์)
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ไทย ที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายโรงแรม ค่าบริการนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลา ระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
ประเด็นสำคัญที่ควรระวัง ⚠️ ยังคงอยู่ที่การจะต้องซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขจากผู้ขายที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น
สิ่งที่ Easy E-Receipt 2568 ต่างไปจากเดิม
Easy E-Receipt 2568 มีลักษณะโดยรวมที่คล้ายกับ Easy E-Receipt 2567 แต่ถ้าหากให้ชี้จุดที่เปลี่ยนแปลงไปในปี 2568 สำหรับผู้ที่เคยใช้สิทธิค่าลดหย่อน Easy E-Receipt มาก่อน จะมีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ
- รายละเอียดสินค้าและบริการที่สามารถใช้สิทธิ Easy E-Receipt ที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย (กดเพื่อเลื่อนไปที่เงื่อนไขสินค้า/บริการ)
- Easy E-Receipt 2568 เริ่ม 16 มกราคม 2568 ไม่ได้เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคมเหมือนมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีปีก่อน ๆ
- เพดานในการซื้อสินค้าและบริการทั่วไปเหลือ 30,000 บาท แต่สินค้าและบริการจาก OTOP และวิสาหกิจสามารถซื้อได้ถึง 50,000 บาท
ไม่ใช่การซื้ออะไรก็ได้ 50000 บาทอีกต่อไป
ค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2568 มีการแบ่งสิทธิลดหย่อนภาษี 50,000 บาท ออกเป็น 2 ส่วน คือ
- กลุ่มที่ 1. สินค้าและบริการทั่วไป หักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท
- กลุ่มที่ 2. สินค้าและบริการจาก OTOP และวิสาหกิจ หักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 20,000 บาท (หรือสูงสุด 50,000 บาท ถ้าไม่ซื้อกลุ่มที่ 1 เลย)
ตามที่ได้วงเล็บเอาไว้ ในปีนี้ได้มีการระบุเอาไว้ว่า “ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการในกลุ่มที่ 1 จะรวมถึงกลุ่มที่ 2 ด้วย” ทำให้การซื้อสินค้าและบริการในกลุ่มที่ 2 ที่เป็น สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP), วิสาหกิจชุมชน, และวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถใช้โควต้า 30,000 บาทของกลุ่มที่ 1 ได้ด้วย
ส่งผลให้การซื้อสินค้าหรือบริการในกลุ่มที่ 2 สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงเพดาน 50,000 บาท (20,000 บาทของกลุ่มที่ 2 เอง + 30,000 บาทของกลุ่มที่ 1) แต่การซื้อสินค้าหรือบริการในกลุ่มที่ 1 ที่เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วไปเพดานลดลงมาเหลือเพียงแค่ 30,000 เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าหากสมมติว่าใช้สิทธิ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน 50,000 บาท จะมีอยู่ 2 กรณี คือ
- ซื้อสินค้าและบริการกลุ่มที่ 1 30,000 บาท + ซื้อสินค้าและบริการกลุ่มที่ 2 20,000 บาท
- ซื้อสินค้าและบริการกลุ่มที่ 2 ทั้งหมด 50,000 บาท
ข้อมูลอ้างอิง
- คำถาม-คำตอบ (Q&A) มาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” (PDF) โดยกรมสรรพากร
- กรมสรรพากรเดินหน้าต่อ “Easy E-Receipt 2.0”ลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น เริ่ม 16 มกราคม 2568 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยกรมสรรพากร
ผู้เสียภาษีและร้านค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ rd.go.th หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
ในส่วนของร้านค้าที่ต้องการใช้ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เพื่อเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่