ทำความเข้าใจกับค่าลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับการ ช้อปลดหย่อนภาษี 2567 ในปีนี้ที่มีชื่อว่า Easy E-Receipt ที่สามารลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท จากการซื้อสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการสามารถออก e-Tax Invoice และ e-Receipt ได้ มาดูกันว่าซื้อสินค้าหรือรับบริการอะไรลดหย่อนภาษีจากช้อปลดหย่อนภาษี 2567 ได้บ้าง
ช้อปลดหย่อนภาษี คืออะไร?
ช้อปลดหย่อนภาษี คือ มาตรการลดหย่อนภาษีที่ให้สิทธิผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีที่กำหนดในแต่ละปี
ค่าลดหย่อนภาษีจากมาตรการ “ช้อปลดหย่อนภาษี” ต่าง ๆ จะใช้ในการนำไปหักลดเงินได้สุทธิก่อนนำเงินได้สุทธิดังกล่าวมาคูณกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได (หรือ อัตราภาษีก้าวหน้า) ในแต่ละขั้นของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่การลดภาษีที่ต้องจ่ายโดยตรง
สิ่งสำคัญของมาตรการ “ช้อปลดหย่อนภาษี” คือ การที่ในแต่ละปีอาจมีความแตกต่างเกี่ยวกับ “ชื่อค่าลดหย่อน เงื่อนไขเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถซื้อเพื่อใช้สิทธิ ช่วงระยะเวลา และจำนวนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด” ทำให้ผู้เสียภาษีที่ต้องการใช้สิทธิเกี่ยวกับการช้อปลดหย่อนภาษีจึงต้องติดตามประกาศจากกรมสรรพากร หรือติดตาม Facebook และ Twitter ของ InsureThink ที่จะคอยสรุปเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านั้นให้คุณ!
สำหรับมาตรการช้อปลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2567 มีชื่อว่า “Easy e-Receipt” ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท ตามค่าใชจ่ายที่จ่ายจริงในการซื้อสินค้าและบริการตามที่กรมสรรพากรกำหนด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
ช้อปลดหย่อนภาษี 2567 มีเงื่อนไขอย่างไร?
ช้อปลดหย่อนภาษี 2567 คือ มาตรการ Easy e-Receipt ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท ตามค่าใชจ่ายที่จ่ายจริงในการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่สามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 (ที่ผู้มีเงินได้จะต้องนำไปยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2568)
สินค้าและบริการที่ผู้มีเงินได้สามารถซื้อเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในมาตรการ Easy e-Receipt จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ค่าซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ทุกประเภท ที่ไม่ใช่การซื้อสินค้าและบริการต่อไปนี้
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องขอ “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป” ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี
2. ค่าซื้อสินค้าและบริการจากผู้ที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะใช้ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะรายการต่อไปนี้
- ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร (ทั้งแบบกระดาษและอีบุ๊ค)
- สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน
ผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องขอ “ใบรับ” ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี
หมายเหตุ: ทั้งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อ และต้องมีชื่อผู้ซื้อเพียงคนเดียว มีชื่อคนอื่นร่วมด้วยไม่ได้
สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขของมาตรการ ช้อปลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ของปี 2567 แบบละเอียดสามารถดูได้ในบทความ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 50000 ช้อปอย่างไรได้ลดหย่อนภาษี? และคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการซื้อสินค้าและบริการที่สามารถลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ได้และไม่ได้ในบทความ