Home » ภาษี » อัตราภาษีก้าวหน้า คืออะไร? ภาษีก้าวหน้าใช้คำนวณภาษีอย่างไร

อัตราภาษีก้าวหน้า คืออะไร? ภาษีก้าวหน้าใช้คำนวณภาษีอย่างไร

บทความโดย

เกี่ยวกับ

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขเมื่อ

อัตราภาษีก้าวหน้า คือ ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา

อัตราภาษีก้าวหน้า คือ อัตราภาษีที่อัตราภาษีจะสูงขึ้นตามระดับเงินได้สุทธิที่นำมาใช้คำนวณภาษีเงินได้ ทำให้ผู้เสียภาษียิ่งมีเงินได้สุทธิสูงก็จะยิ่งเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าที่ยิ่งสูงขึ้น โดยในแต่ละขั้นของเงินได้จะใช้อัตราภาษีในการคำนวณที่ต่างกันและนำภาษีที่คำนวณได้ในแต่ละขั้นของภาษีอัตราก้าวหน้ามารวมกันเป็นภาษีที่ต้องจ่าย

ในปัจจุบันอัตราภาษีก้าวหน้าของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะแบ่งอัตราภาษีแบบก้าวหน้าออกเป็น 8 ขั้นตั้งแต่ 0% – 35% ตามระดับฐานภาษีตั้งแต่ 150,000 – 5,000,000 บาทขึ้นไป

โดยการคำนวณภาษีเงินได้ด้วยอัตราภาษีก้าวหน้าจะคำนวณโดยแบ่งเงินได้สุทธิออกเป็นขั้น ตามขั้นเงินได้สุทธิของอัตราภาษีก้าวหน้า ซึ่งในแต่ละขั้นของเงินได้จะใช้อัตราภาษีที่แตกต่างกัน ทำให้อีกชื่อเรียกหนึ่งของอัตราภาษีก้าวหน้าก็คืออัตราภาษีขั้นบันได

อธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ การคำนวณภาษีด้วยอัตราภาษีแบบก้าวหน้าจะต้องแบ่งเงินได้เป็นก้อน ซึ่งเงินที่แบ่งไว้แต่ละก้อนจะคูณกับอัตราภาษีที่ต่างกัน (ตามแต่ละขั้น)

อัตราภาษีก้าวหน้า

อัตราภาษีก้าวหน้าของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 8 ขั้นตามระดับเงินได้พึงประเมิน (รายได้ตลอดทั้งปีหลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อยภาษี) ของผู้เสียภาษี โดยมีอัตราดังนี้

อัตราภาษีก้าวหน้า คือ ภาษีอัตราก้าวหน้า คำนวณ ขั้นภาษี
ตารางอัตราภาษีก้าวหน้า สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

จากตารางอัตราภาษีก้าวหน้า ในเบื้องต้นจะสามารถประมาณการภาษีที่ต้องจ่ายของผู้เสียภาษีตามเงินได้สุทธิแต่ละช่วงของอัตราภาษีก้าวหน้า ได้ดังนี้

  • เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี (แต่ต้องยื่นภาษี)
  • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 – 300,000 บาท จะเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท
  • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 300,001 – 500,000 บาท จะเสียภาษีตั้งแต่ 7,500 – 27,500 บาท
  • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 500,001 – 750,000 บาท จะเสียภาษีตั้งแต่ 27,500 – 65,000 บาท
  • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 750,001 – 1,000,000 บาท จะเสียภาษีตั้งแต่ 65,000 – 115,000 บาท
  • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 1,000,001 – 2,000,000 บาท จะเสียภาษีตั้งแต่ 115,000 – 365,000 บาท
  • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 2,000,001 – 5,000,000 บาท จะเสียภาษีตั้งแต่ 365,000 – 1,265,000 บาท
  • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีตั้งแต่ 1,265,000 บาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับว่ามีเงินได้สุทธิสูงเท่าไหร่)

วิธีคำนวณภาษีด้วยอัตราภาษีก้าวหน้า

สิ่งที่ผู้มีเงินได้หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ อัตราภาษีก้าวหน้า คือ การเข้าใจผิดว่ามีเงินได้สุทธิ (รายได้ที่ใช้คำนวณภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนภาษี) เท่าไหร่ให้นำไปคูณกับอัตราภาษีขั้นนั้น ๆ ทันที เช่น มีเงินได้สุทธิ 600,000 บาท จึงนำ 6 แสนไปคูณกับอัตราภาษี 15% ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ผิด!

วิธีคำนวณภาษีแบบอัตราภาษีก้าวหน้าที่ถูกต้อง จะต้องแบ่งเงินได้สุทธิออกเป็นก้อนตามขั้นภาษีเพื่อนำไปคูณกับอัตราภาษีในแต่ละขั้นของภาษี จากนั้นจึงนำภาษีที่คำนวณมาได้จากแต่ละขั้นมารวมกันเป็นภาษีที่ต้องจ่าย

Time needed: 5 minutes

วิธีคำนวณภาษีด้วยอัตราภาษีก้าวหน้าสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถทำได้ด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. แยกเงินได้สุทธิออกเป็นขั้น

    ขั้นแรกแบ่งเงินได้ออกเป็นขั้นตามขั้นเงินได้สุทธิตามตารางอัตราภาษีขั้นบันได

  2. คูณเงินได้สุทธิแต่ละขั้นกับอัตราภาษีของแต่ละขั้น

    นำเงินได้แต่ละขั้นคูณกับอัตราภาษีของแต่ละขั้น จะได้เป็นภาษีของแต่ละขั้น

  3. รวมภาษีจากแต่ละขั้น

    นำภาษีที่คำนวณได้จากแต่ละขั้นมารวมกัน ซึ่งจะได้เป็นภาษีที่ต้องจ่าย

ตัวอย่างเช่น มีเงินได้สุทธิทั้งปี 360,000 บาท เมื่อเทียบเงินได้สุทธิกับตารางอัตราภาษีก้าวหน้าจะเห็นว่าเงินได้ 360,000 บาทอยู่ในขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 3

  • ขั้นที่ 1 ตั้งแต่ 1 – 150,000 บาท (ได้รับการยกเว้นภาษี)
  • ขั้นที่ 2 ตั้งแต่ 150,001 – 300,000 บาท (อัตราภาษี 5%)
  • ขั้นที่ 3 ตั้งแต่ 300,001 – 360,000 บาท (อัตราภาษี 10%)

การคำนวณภาษีเงินได้ด้วยอัตราภาษีก้าวหน้าของเงินได้สุทธิ 360,000 บาท สามารถคำนวณได้ดังนี้

  • ขั้นที่ 1 ได้รับการยกเว้นภาษี = 0 บาท
  • ขั้นที่ 2 มีเงินได้ในขั้นนี้ 150,000 บาท x 5% = 7,500 บาท
  • ขั้นที่ 3 มีเงินได้ในขั้นนี้ 60,000 บาท x 10% = 6,000 บาท

ดังนั้น จากตัวอย่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายของเงินได้สุทธิ 360,000 บาท จะเท่ากับ 0 + 7,500 + 6,000 = 13,500 บาท