ทำความเข้าใจกับ เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท และวิธีการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้ 8 ประเภท พื้นฐานของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้ 8 ประเภทที่ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ม.40(1) ถึง ม.40(8) โดยเงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภทจะถูกแบ่งกลุ่มตามลักษณะอาชีพหรืองานที่ทำให้เกิดรายได้นั้นๆ เพื่อใช้สำหรับการคำนวณภาษีและการหักค่าใช้จ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
เนื่องจากกฎหมายมองว่าแต่ละอาชีพมีต้นทุนและรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน เงินได้พึงประเมิน จึงเป็นสิ่งที่กำหนดว่าผู้มีเงินได้จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ด้วยวิธีไหนและหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเท่าไหร่ รวมถึงกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี อย่างเช่น การที่เงินได้พึงประเมินบางประเภทต้องยื่นภาษีครึ่งปีในขณะที่เงินได้บางประเภทไม่ต้องยื่น
เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท ได้แก่
- เงินได้ประเภทที่ 1 เงินได้จากการจ้างงาน
- เงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้เป็นครั้งคราว
- เงินได้ประเภทที่ 3 เงินได้จากค่า Goodwill (สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอย่างทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ)
- เงินได้ประเภทที่ 4 เงินได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร
- เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้และประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สิน
- เงินได้ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ โรคศิลป กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี และประณีตศิลปกรรม
- เงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
- เงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม ขายอสังหาริมทรัพย์ และเงินได้ที่ไม่ได้ระบุอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7
ผู้เสียภาษีคนหนึ่งอาจมี เงินได้พึงประเมิน มากกว่า 1 ประเภทก็ได้ อย่างเช่น A ทำงานประจำ และมีอาชีพขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริม A จะมีทั้ง เงินได้ประเภทที่ 1 และเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่ง A ก็จะต้องหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินและยื่นภาษีให้ถูกต้องตามเงินได้แต่ละประเภท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท จะมีชื่อเรียกว่า “เงินได้” แต่สิ่งที่สามารถนับเป็น เงินได้พึงประเมิน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่อยู่ในรูปตัวเงิน แต่จะรวมไปถึงสิทธิประโยชน์และทรัพย์สินที่มีมูลค่าสามารถคำนวณเป็นเงินได้ ตัวอย่างเช่น เครดิตภาษีเงินปันผล เงินภาษีที่บริษัทจ่ายให้ การได้รับโอนหุ้น และที่พักที่บริษัทจัดให้อยู่
การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท
การหักค่าใช้จ่าย คือ การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักค่าใช้จ่ายออกจากเงินได้พึงประเมิน (รายได้ที่นำมาคำนวณภาษี) เพราะทุกอาชีพย่อมมีต้นทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินได้ โดยเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่ในเบื้องต้น การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมิน จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา และ การหักค่าใช้จ่ายตามจริง นอกจากนี้ เงินได้พึงประเมิน บางประเภทอาจสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้ง 2 วิธีขึ้นอยู่กับว่าผู้มีเงินได้จะเลือกหักค่าใช้จ่ายด้วยวิธีแบบไหน
การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ การหักค่าใช้จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยไม่สนว่าคุณจะมีค่าใช้จ่ายจริงเท่าไหร่
การหักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ การหักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงที่คุณใช้ไปกับการประกอบอาชีพซึ่งทำให้คุณได้มาซึ่งเงินได้ประเภทดังกล่าว
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คือ เงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
รวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้มาเนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เงินที่นายจ้างออกค่าที่พักให้ทำให้คุณไม่เสียค่าเช่า เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง และการที่นายจ้างจ่ายหนี้ให้ลูกจ้าง เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีที่ผู้มีเงินได้มีเงินได้ทั้ง เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ตัวอย่างเช่น นางสาว A มีเงินได้จากเงินเดือนทั้งปี 700,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 50% เท่ากับ 350,000 บาท แต่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ระบุว่าหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดแค่ 100,000 บาท ทำให้การหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือนนางสาว A ทำได้แค่ 100,000 บาท
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 คือ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้เป็นครั้งคราว (ไม่ใช่การจ้างงานถาวรแบบพนักงานบริษัท) ได้แก่ ค่าจ้างฟรีแลนซ์ ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม เบี้ยประชุมที่บริษัทออกให้ การรับรีวิวสินค้า ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร และ MC
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มเติมจากการจ้างงานชั่วคราวด้วย เช่น การจ่ายหนี้ให้ ส่วนลด การให้อยู่บ้านโดยไม่เสียค่าเช่า ค่าเบี้ยประชุมที่ผู้ว่าจ้างออกให้ เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าหากผู้มีเงินได้มีทั้งเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ตัวอย่างเช่น นางสาว A เงินได้จากเดือนทั้งปี 700,000 บาท และรับงานฟรีแลนซ์ออกแบบเว็บไซต์ทำเงินได้ทั้งปี 600,000 บาท เมื่อรวมกันจะเห็นว่า มีเงินได้รวมทั้งหมด 900,000 บาทตลอดปีภาษี 50% คือ 450,000 บาท แต่เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 สามารถหักค่าใช้จ่ายรวมกันได้สูงสุดแค่ 100,000 บาทเท่านั้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 คือ เงินได้ที่มาจากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ (Goodwill) หรือ ค่าความนิยม หรือเงินได้ที่มาจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต่างๆ เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิบัตร ค่าความนิยม ค่าทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า สูตร ค่าเฟรนไชส์ และทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 คือ เงินได้จากการลงทุนทางการเงิน (Financial Investment) ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผลหุ้น เงินส่วนแบ่งกำไร Cryptocurrency ผลประโยชน์จากการโอนหุ้น เงินจากการเพิ่มทุน และเงินจากการลดทุน
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 คือ เงินได้หรือประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและหักแบบอัตราเหมา แต่เงินได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อและการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 20% แบบเดียวเท่านั้น
การหักค่าใช้จ่ายอัตราเหมาของเงินได้ประเภทที่ 5 มีอัตราดังนี้
- บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
- ยานพาหนะ หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
- ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 20%
- ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 15%
- ทรัพย์สินอื่น หักค่าใช้จ่ายได้ 10%
นอกจากนี้ กรณีที่ผู้มีเงินได้เช่าทรัพย์สินแล้วปล่อยเช่าทรัพย์สินดังกล่าวอีกทอดจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเท่ากับค่าเช่าที่คุณจ่ายเพื่อเช่าจากเจ้าของเดิม
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 คือ เงินได้ที่ได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ (ทันตกรรม เภสัชกรรม เวชกรรม เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด ผดุงครรภ์ และพยาบาล) กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นๆ ตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและอัตราเหมา โดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมากำหนดอัตราไว้ดังนี้
- การประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60%
- กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30%
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น งานรับเหมาก่อสร้าง
เงินได้ประเภทที่ 7 สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและแบบอัตราเหมา 60%
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ การขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และเงินได้อื่นนอกจากเงินได้ประเภทที่ 1 ถึง 7
การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันในแต่ละรายการขึ้นอยู่กับว่าเป็นเงินได้พึงประเมินจากอะไร
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ที่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งตามจริงและแบบเหมา 60% จะมีอยู่ทั้งหมด 43 ประเภทเงินได้ สามารถดูการหักค่าใช้จ่ายของทั้งหมด 43 ประเภทเงินได้แบบละเอียดได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร
เงินได้พึงประเมินรายการอื่นๆ ของประเภทที่ 8 ที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาแต่ไม่ใช่ 60% ได้แก่
- นักแสดงสาธารณะ หักค่าใช้จ่ายได้ทั้งตามจริงและเหมา 40-60% แต่ไม่เกิน 400,000 บาท
- การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มา หักค่าใช้จ่ายได้ทั้งตามจริงและเหมา 50%
- การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่มุ่งผลกำไร หักค่าใช้จ่ายได้ทั้งตามจริงและเหมา 50-92%
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ไม่ได้อยู่ในรายการตามด้านบนจะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงได้เท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก:
- ในการเสียภาษีจะต้องคำนวณภาษีอย่างไร? เว็บไซต์ของกรมสรรพากร