สัปดาห์ที่ผ่านมาหลาย ธนาคารลดดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR เพื่อตอบรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาดูกันว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของแต่ละธนาคารลดลงเท่าไหร่กันบ้าง?
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารต่างๆ จึงได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ ที่ธนาคารปรับลดลงจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ MLR (Minimum Loan Rate), MOR (Minimum Overdraft Rate), และ MRR (Minimum Retail Rate)
- MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา
- MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี
- MRR (Minimum Retail Rate) คือ ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี
โดยในบทความนี้ insurethink จะพาไปดูอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารทีเอ็มบีและธนชาต และธนาคารอาคารสงเคราะห์
ธนาคารไทยพาณิชย์
SCB ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.35% เพื่อเร่งการฟื้นตัวของฐานะการเงินในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้กลับมาโดยเร็ว และช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯ โดยเร่งด่วน ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนด้านสภาพคล่องหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด Covid-19 ในหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
- MLR ลดลงจาก 5.375% เหลือ 5.25% (-0.125%)
- MOR ลดลงจาก 6.095 % เหลือ 5.845% (-0.250%)
- MRR ลดลงจาก 6.345 % เหลือ 5.995% (-0.35%)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยลูกค้าลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง ให้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการ และลูกค้าบุคคล ดังนี้
- MLR ลดลงจาก 5.60% เหลือ 5.47% (-0.13%)
- MOR ลดลงจาก 6.22% เหลือ 5.84% (-0.38%)
- MRR ลดลงจาก 6.10% เหลือ 5.97% (-0.13%)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารกสิกรไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท เหลือต่ำสุด 5.25% เพื่อสนับสนุนกลไกภาครัฐ และช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนลดต้นทุนทางการเงินรับมือโรคโควิด-19
- MLR ลดลงเหลือ 5.25%
- MOR ลดลงเหลือ 5.875%
- MRR ลดลงเหลือ 5.75%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารกรุงเทพ มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าอันเนื่องมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยลบที่ตามมา กรุงศรีจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR ลงอีก หลังจากที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อไปแล้ว 3 ครั้ง ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 24 มีนาคม และ 10 เมษายน 2563 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีมีอัตราดอกเบี้ยดังต่อไปนี้
- MLR ลดลงจาก 5.83% เหลือ 5.58% (-0.25%)
- MOR ลดลงจาก 6.30% เหลือ 5.95% (-0.35%)
- MRR) ลดลงจาก 6.30% เหลือ 6.05% (-0.25%)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125-0.40% ต่อปี เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและสนับสนุนกลไกของภาครัฐในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน
- MLR ลดลงจาก 5.375% เหลือ 5.25% (-0.125%)
- MOR ลดลงจาก 6.22% เหลือ 5.82% (-0.40%)
- MRR ลดลงจาก 6.345% เหลือ 6.22% (-0.125%)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารกรุงไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสิน ลดดอกเบี้ยสอดคล้องทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของ กนง. ร่วมบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 พร้อมดูแลลูกค้ารายย่อย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% – 0.25% โดยมีรายละเอียดดังนี้
- MLR ลดลงจาก 6.275% เหลือ 6.150% (-0.125%)
- MOR ลดลงจาก 6.245% เหลือ 5.995% (-0.25%)
- MRR ลดลงจาก 6.370% เหลือ 6.245% (-0.125%)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารออมสิน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากในครั้งนี้ไม่มีการปรับลดลงแต่อย่างใด โดยธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินเพื่อการออมยังคงส่งเสริมภาคการออมต่อเนื่องต่อไป หรือภายหลังจากการประชุมครั้งต่อไปของ กนง. ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งธนาคารจะมีการพิจารณาทบทวนการปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
ธนาคารทีเอ็มบี และธนชาต
เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบทางเศรษฐทั่วโลก ธนาคารได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทีเอ็มบี และธนชาตจึงขอประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR (Minimum Lending Rate), MOR (Minimum Overdraft Rate) และ MRR (Minimum Retail Rate) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- MLR ลดลงจาก 6.25% เหลือ 6.125% (-0.125%)
- MOR ลดลงจาก 6.275% เหลือ 6.15% (-0.125%)
- MRR ลดลงจาก 6.63% เหลือ 6.28% (-0.350%)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% – 0.250% ต่อปีเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเกิดการฟื้นตัวและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- MLR ลดลงจาก 5.875% เหลือ 5.750% (-0.125%)
- MOR ลดลงจาก 6.150% เหลือ 5.900% (-0.250%)
- MRR ลดลงจาก 6.275% เหลือ 6.150% (-0.125%)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป