ทำความเข้าใจกับ ภ.ง.ด. 94 ที่ใช้สำหรับการยื่นภาษีครึ่งปีบุคคลธรรมดา ใครบ้างที่กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่น ภงด 94 และใครบ้างที่ต้องเสียภาษีครึ่งปีบุคคลธรรมดา พร้อมวิธียื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 อย่างละเอียด
ภ.ง.ด. 94 คือ แบบแสดงรายการที่ใช้สำหรับการยื่นภาษีครึ่งปีบุคคลธรรมดา โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ถึง 8 ในเดือนมกราคม – มิถุนายนถึง 60,000 บาทจะต้องยื่น ภ.ง.ด. 94 ไม่ว่าจะมียอดภาษีที่ต้องจ่ายหรือไม่ โดยสรรพากรจะกำหนดให้ยื่น ภ.ง.ด. 94 สำหรับภาษีครึ่งปีภายในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนของทุกปี
อย่างไรก็ตาม ในการยื่นภาษีครึ่งปีจะใช้แบบ ภ.ง.ด. 94 และคำนวณภาษีจากรายได้เฉพาะในส่วนที่ต้องจ่ายภาษีครึ่งปีเท่านั้น (รายได้จากเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย.) กรณีที่รายได้มีหลายทาง อย่างเช่น มีรายได้ทั้งประเภทที่ 1 2 5 6 และ 8 ในการยื่น ภ.ง.ด. 94 ก็จะใช้แค่รายได้ประเภท 5 6 และ 8 มาคำนวณภาษีครึ่งปีเท่านั้น
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
- ภ.ง.ด. 94 คืออะไร?
- ใครต้องยื่น ภ.ง.ด. 94
- ใครไม่ต้องยื่น ภงด 94
- อัตราภาษีและวิธีคำนวณภาษีครึ่งปี
- วิธียื่น ภ.ง.ด. 94 แบบละเอียด
- ยื่นภาษีครึ่งปี (ภงด 94) ภายในวันไหน
- รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ภงด 94
ภ.ง.ด. 94 คืออะไร?
ภ.ง.ด. 94 คือ แบบแสดงรายการที่ใช้สำหรับการยื่นภาษีครึ่งปีบุคคลธรรมดา โดยภาษีครึ่งปีจะเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ถึงประเภทที่ 8 ภายในเดือนมกราคม – มิถุนายนของปีภาษีเดียวกัน ตั้งแต่ 60,000 บาท (120,000 บาท กรณียื่นกับคู่สมรส) ขึ้นไป
ผู้ที่เข้าเงื่อนไขการยื่นภาษีครึ่งปีดังกล่าวจะต้อง ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ไม่ว่าจะมียอดภาษีที่ต้องจ่ายหรือไม่ (อาจจะต้องยื่น ภงด 94 แต่ไม่ต้องเสียภาษีก็ได้) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนภาษีที่คำนวณออกมา
นอกจากนี้ เมื่อถึงสิ้นปีผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ไปเมื่อตอนยื่นภาษีครึ่งปีก็จะต้องนำรายได้ทั้งปีมาคำนวณภาษีอีกครั้ง เพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีตามปกติ (ภ.ง.ด. 90) เพื่อชำระภาษีส่วนที่เหลือ หรือขอคืนภาษีในกรณีที่การคำนวณภาษีทั้งปีได้น้อยกว่าที่ได้จ่ายภาษีไปเมื่อตอนยื่น ภ.ง.ด. 94 เมื่อครั้งที่ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี
ใครต้องยื่น ภ.ง.ด 94
ผู้ที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 94 คือ บุคคลธรรมดา (คนทั่วไป) ที่มีรายได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายนของปีภาษีเดียวกันเท่ากับหรือมากกว่าเกณฑ์ที่กรมสรรพากรได้กำหนดเอาไว้
- กรณีโสด ต้องมีรายได้ตั้งแต่ 60,000 บาท
- กรณีแต่งงาน ต้องมีรายได้รวมกันตั้งแต่ 120,000 บาท
และเป็นรายได้จากเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 มาตรา 40(5) ถึงประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) ตามประมวลรัษฎากร

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น เงินจากให้เช่าบ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าเช่ารถยนต์ และเงินที่ได้จากการผิดสัญญาซื้อ/ขาย/เช่าซื้อ
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 คือ เงินได้จากวิชาชีพ (ไม่ใช่ฟรีแลนซ์) ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ (แพทย์/พยาบาล), นักบัญชี, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก และช่างประณีตศิลปกรรม
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 คือ รายได้จากค่าจ้างรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 คือ รายได้อื่นที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภท 1 – 7 ตัวอย่างเช่น การพาณิชย์, เกษตร, นักแสดง, การขนส่ง, ขายของออนไลน์, ร้านเสริมสวย, รับจ้างทั่วไป, นักกีฬาอาชีพ, กำไรจากการขายกองทุน, สลากกินแบ่งรัฐบาล, YouTuber (ที่ไม่ได้จดบริษัท), Blogger (เงินจากการจ้างรีวิวและจาก AdSense), Streamer และ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้า เป็นต้น

เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท แต่ละประเภทแบบละเอียด – เงินได้พึงประเมิน คืออะไร?
ใครไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94)
ในทางกลับกันผู้ที่ไม่ต้อง ยื่น ภ.ง.ด. 94 หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี คือ บุคคลธรรมดาที่มีรายได้มาจากเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1, 2, 3 และ 4 เท่านั้น ได้แก่
- พนักงานเงินเดือน
- Freelance
- เงินได้จากค่า Goodwill (รายได้ที่มาจากเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา)
- เงินได้จากดอกเบี้ย และเงินปันผล
ดังนั้น ถ้าหากว่ารายได้พึงประเมินคุณอยู่ใน 4 ประเภทนี้เท่านั้น นั่นหมายความว่าคุณคือผู้ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี
วิธีคำนวณภาษีครึ่งปี
วิธีคำนวณภาษีครึ่งปีสำหรับการยื่น ภ.ง.ด. 94 คือ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันไดตามปกติ เพียงแต่รายการค่าลดหย่อนภาษีในบางรายการจะลดหย่อนได้น้อยลงจากการคำนวณแบบเต็มปี
ตัวอย่างเช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวปกติจะลดหย่อนได้ 60,000 บาท แต่กรณีของการคำนวณภาษีครึ่งปี จะหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้เพียง 30,000 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่เข้าใจวิธีคำนวณก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะการยื่น ภ.ง.ด. 94 เพียงแค่ใส่ข้อมูลตามจริง ระบบจะคำนวณภาษีให้อยู่แล้ว
ค่าลดหย่อนภาษีครึ่งปี
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
- คู่สมรสไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้เฉพาะประเภท 1 – 4 ลดหย่อนได้ 30,000 บาท
- คู่สมรสยื่นภาษีรวมกัน ลดหย่อนส่วนตัวได้ 30,000 บาท และหักลดหย่อนคู่สมรสของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
- คู่สมรสแยกยื่นภาษีครึ่งปี ลดหย่อนส่วนตัวได้คนละ 30,000 บาท แต่ลดหย่อนส่วนของคู่สมรสอีกไม่ได้
- ค่าเลี้ยงดูบุตร คนละ 15,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 15,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ คนละ 15,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนละ 30,000 บาท
- ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 5,000 บาท
- ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนที่เกิน 10,000 บาท ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท
- ซื้อกองทุน SSF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- ซื้อกองทุน RMF, กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท
- บริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- บริจาคทั่วไป ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกัน
- เบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 95,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 95,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินลงทุนใน RMF, เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ, และกองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ประกันสังคม ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
หมายเหตุ: ในขั้นตอนการยื่นภาษีบนเว็บไซต์ rd.go.th ในขั้นตอนการกรอกค่าลดหย่อนจะมีรายละเอียดค่าลดหย่อนครบทุกรายการอยู่แล้ว
วิธียื่น ภ.ง.ด. 94 แบบละเอียด
วิธียื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การไปยื่น ภ.ง.ด. 94 ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากร และยื่น ภ.ง.ด. 94 ออนไลน์ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/ ในบทความนี้เราจะสอนการยื่นผ่านเว็บไซต์
วิธียื่น ภ.ง.ด. 94 ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
- ไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
เลือก ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94
- ใส่ข้อมูลผู้ยื่น ภ.ง.ด 94
ถ้าเคยกรอกมาก่อน ระบบจะให้ตรวจสออบข้อมูลแล้วกดยืนยัน
- ใส่ข้อมูลสถานภาพของผู้มีเงินได้ที่ยื่น ภ.ง.ด. 94
รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณในช่องที่ระบบบังคับให้กรอก
- เลือกเงินได้พึงประเมิน และเลือกค่าลดหย่อน (เลือกทั้งหมดที่คุณมีจริง)
อย่างที่ได้อธิบายว่าคุณไม่จำเป็นต้องจำรายละเอียดค่าลดหย่อน เพราะเว็บไซต์กรมสรรพากรจะมีให้เลือกพร้อมรายละเอียด (กดเครื่องหมาย ?)
- ใส่เงินได้ที่คุณมีจากรายได้แต่ละประเภทในเดือนม.ค.-มิ.ย. และค่าใช้จ่าย
ถ้ามีเงินได้หลายประเภท ให้รวมเงินได้แต่ละประเภทแล้วกรอกแยกกัน (กดปุ่มเพิ่มรายการเงินได้) พร้อมกับกรอกค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทที่คุณมี (มีอธิบายเพิ่มเติม)
- ระบบจะทำการคำนวณภาษีให้เรา และแสดงจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย
ตรวจสอบข้อมูลให้เรียบร้อย แล้วกดยืนยันเพื่อทำการยื่น ภ.ง.ด 94
- ผลการยื่นแบบ (ถ้ามาถึงหน้านี้คือยื่น ภ.ง.ด. 94 เรียบร้อยแล้ว)
ให้กด “พิมพ์แบบ” เพื่อบันทึก แบบแสดงภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 94 เพื่อเก็บไว้ยืนยันว่าคุณยื่น ภ.ง.ด. 94 แล้ว
อธิบายเพิ่มเติม: การหักค่าใช้จ่าย (ขั้นตอนที่ 5) แบ่งเป็น 3 กรณีที่คุณสามารถพบได้ คือ
- หักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง ให้ใส่เลขค่าใช้จ่ายที่คุณใช้ไปจริงกับการประกอบอาชีพ (ต้องมีหลักฐานอย่างใบเสร็จหรือ Invoice)
- หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา เป็นการหักเป็นเปอร์เซ็นต์ จะถูกกำหนดไว้ตายตัวอยู่แล้วว่าเงินได้แบบไหนหักได้เท่าไหร่ (ไม่ต้องใช้หลักฐานฉ
- หักได้ทั้ง 2 แบบ (ให้ลองเทียบ เลือกทางที่นำมาลดค่าใช้จ่ายมากที่สุด)
อย่าลืม! ยื่นภาษีตอนสิ้นปีอีกครั้ง
เมื่อถึงสิ้นปี ผู้ที่ได้ ยื่น ภ.ง.ด. 94 ไปแล้วเมื่อกลางปีจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีอีกครั้งตามปกติ โดยจะต้องนำรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน มาคำนวณภาษีแบบเต็มปีอีกครั้ง และยื่นภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90 เพื่อชำระภาษีส่วนที่เหลือหรือคืนส่วนที่จ่ายเกินเมื่อตอนครึ่งปี แบ่งเป็น 3 กรณี
- ภาษีที่จ่ายไปเมื่อครึ่งปี > ที่คำนวณได้ตอนสิ้นปี = ขอคืนส่วนที่เกิน
- ภาษีที่จ่ายไปเมื่อครึ่งปี < ที่คำนวณได้ตอนสิ้นปี = จ่ายเพิ่มส่วนที่ขาด
- ภาษีที่จ่ายไปเมื่อครึ่งปี = ที่คำนวณได้ตอนสิ้นปี = ไม่ต้องทำอะไร
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณยื่น ภ.ง.ด. 94 แล้วจ่ายภาษีครึ่งปีไปแล้ว 6,000 บาท เมื่อถึงสิ้นปีคำนวณภาษีทั้งปีออกมาได้ 9,500 บาท หมายความว่า ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มตอนสิ้นปี ในการยื่น ภ.ง.ด. 90 คือ 3,500 บาทที่เหลือ
ในทางกลับกัน ถ้าหากคำนวณภาษีทั้งปีออกมาได้ต่ำกว่าที่จ่ายไปเมื่อตอนยื่น ภ.ง.ด. 94 เมื่อตอนครึ่งปี ก็จะสามารถขอคืนภาษีส่วนที่เกิน เช่น ถ้ายื่น ภ.ง.ด. 94 จ่ายภาษีครึ่งปีไปแล้ว 6,000 บาท แต่เมื่อถึงสิ้นปีคำนวณได้ 2,000 บาท สามารถขอคืนภาษีส่วนที่จ่ายเกินไป 4,000 บาทได้
นอกจากนี้ ผู้เสียภาษีที่มีภาษีต้องชำระ ตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป สามารถแบ่งผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละเท่าๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ (เงินเพิ่มของสรรพากร = ดอกเบี้ย)
ยื่นภาษีครึ่งปี (ภงด 94) ภายในวันไหน
ระยะเวลายื่น ภ.ง.ด. 94 คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายนของปีภาษีนั้น แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปี โดยกรมสรรพากรจะเป็นผู้กำหนดวัน ซึ่งสามารถตรวจสอบอีกครั้งได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/
โดยระยะเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ของปี 2563 จะสิ้นสุดวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้
สำหรับผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะมีค่าปรับเป็นเงินเพิ่ม 1.5% ของภาษีที่ค้างจ่าย/เดือน + โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
คำถามที่พบบ่อย
รวมคำถามที่พบบ่อยของภาษีครึ่งปีบุคคลธรรมดา และ ภ.ง.ด. 94 เกี่ยวการยื่นภาษีครึ่งปี พร้อมกับคำตอบของคำถาม
ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5,6,7 และ 8 ถึงเกณฑ์ที่กำหนดในเดือนม.ค. – มิ.ย.
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีเปิดให้ยื่นในช่วง เดือนกรกฎาคม – กันยายน ของทุกปี
พนักงานเงินเดือนที่ได้เงินจากเงินเดือนประจำเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 94
สามารถยื่นภ.ง.ด. 94 ได้ที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
ต้องยื่นภาษีสิ้นปีอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก:
- ใคร!! มีเงินได้ที่ต้องยื่น “ภาษีครึ่งปี” – Facebook กรมสรรพากร : The Revenue Department
- ใครบ้าง? ถึงเวลาต้องยื่นภาษีครึ่งปี – Facebook กรมสรรพากร : The Revenue Department
- ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้อย่างไร และเมื่อใด? – เว็บไซต์กรมสรรพากร
- เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท มีอะไรบ้าง – Greed is Goods
ข้อมูลอัพเดทครั้งสุดท้าย (Last Modified) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563